วันศุกร์ที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2554

ความทุกข์ที่เกิดจากโรค ไม่มีโรคจึงเป็นลาภอันประเสริฐ

#โรคข้อและรูมาติซั่ม
รูมาติซั่มคืออะไร?
รูมาติซั่ม เป็นกลุ่มที่มีการเสื่อม การอักเสบ หรือมีความผิดปกติของเนื้อเยื่อ เกี่ยวพันของร่างกาย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในส่วนที่เกี่ยวกับข้อ เอ็น กล้ามเนื้อ และกระดูก ในผู้ป่วยบางราย อาจเป็นเฉพาะที่ เช่น เท้าพลิก เท้าแพลง แต่ไม่น่าเป็นห่วงเท่าไร เพราะเมื่อรักษาอาการตรงนั้นแล้วก็หาย แต่ถ้าโรคบางอย่าง เริ่มต้นด้วยปวดข้อ แต่แท้จริงไม่ได้อยู่ที่ข้อ แต่มีอาการอักเสบของอวัยวะต่างๆ ทั่วร่างกาย หรือโรคที่เรารู้จักกันดีคือ โรคลูปัส ซึ่งเป็นโรคแพ้ภูมิตัวเอง คือ ร่างกายสร้างสารมาต่อต้านตัวเอง เพราะฉะนั้น จะเป็นได้ทั่วร่างกายแล้วแต่ว่า จะสร้างสารต่อต้านที่จุดไหน ถ้าไปต่อต้านเม็ดเลือดแดง จะทำให้เกิดอาการซีด ถ้าต่อต้านเม็ดเลือดขาว ก็จะทำให้ภูมิต้านทานต่ำ และติดเชื้อง่าย
ข้ออักเสบคืออะไร?
ข้ออักเสบ เป็นภาวะที่มีการอักเสบของข้อ ซึ่งจะมีอาการและอาการแสดงคือ ปวด บวม แดงร้อน และมีการสูญเสีย หน้าที่การทำงานของข้อ กลุ่มโรคข้ออักเสบนี้อาจมีอาการ หรืออาการแสดงในระบบอื่นๆ ของร่างกายได้ด้วย เช่น ผิวหนัง ตา ปาก ไต ปอด และระบบเลือด เป็นต้น
โรคข้ออักเสบ สามารถเป็นได้ทุกอายุ ตั้งแต่เด็ก หนุ่ม สาว ไปจนถึงวัยสูงอายุ แต่ลักษณะการกระจาย ของโรคข้ออักเสบแต่ละชนิด ในแต่ละกลุ่มอาการแตกต่างกันไป โรคข้ออักเสบส่วนใหญ่จะเป็นเรื้อรัง ข้ออักเสบบางชนิด อาจเป็นไปตลอดชีวิตของผู้ป่วย ในขณะที่บางรายข้ออักเสบ อาจมีลักษณะเป็นๆ หายๆ และข้ออักเสบบางชนิด สามารถรักษาให้หายขาดได้ โดยทั่วไป เราจะสามารถควบคุมอาการของโรคได้ ในปัจจุบัน มีโรคข้ออักเสบเพียงไม่กี่ชนิด ที่เราทราบสาเหตุของโรคชัดเจน เช่น โรคข้ออักเสบจากการติดเชื้อ โรคเกาต์ ส่วนโรคข้ออักเสบเรื้อรังอื่นๆ เรายังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด แต่การศึกษาในปัจจุบันพบว่า โรคเหล่านี้ อาจมีส่วนเกี่ยวข้องกับพันธุกรรม ประกอบกับปฏิกิริยาจากสิ่งแวดล้อม เช่น การติดเชื้อไวรัส ฯลฯ
สัญญาณอันตรายของข้ออักเสบ?
มีข้อบวม อาการฝืด ขัดเป็นเวลานานในตอนเช้า มีอาการปวดเป็นๆ หายๆ ในข้อหนึ่งข้อใด ไม่สามารถเคลื่อนไหวข้อได้เป็นปรกติ มีอาการแดงหรือร้อนบริเวณข้อ มีไข้ น้ำหนักลด หรืออ่อนแรง และมีอาการต่างๆ ที่กล่าวมานานกว่า 2 สัปดาห์
การรักษา?
การดูแลรักษาโรคข้ออักเสบ ประกอบไปด้วยการรักษาหลายฝ่าย เริ่มต้นด้วยการให้ยา เพื่อลดการอักเสบของข้อ และควบคุมโรคให้สงบ การดูแลและระวังในการใช้ข้อและป้องกันข้อ โดยการปฏิบัติตนให้ถูกต้อง เพื่อให้เกิดความสมดุลที่ถูกต้อง ระหว่างการพักและการออกกำลังกาย การพักการใช้งานของข้อ ที่กำลังอักเสบอย่างมาก จะช่วยให้อาการอักเสบน้อยลง การบริหารร่างกาย เพื่อให้ข้อมีการเคลื่อนไหวได้มากที่สุด และเป็นการเพิ่มความแข็งแกร่งของกล้ามเนื้อ ถ้าไม่เคลื่อนไหวข้อเลย ข้อจะติดและกล้ามเนื้อจะลีบ การรักษาทางกายภาพบำบัด ด้วยความร้อนและความเย็น เพื่อช่วยลดความเจ็บปวด การใช้อุปกรณ์ทางการแพทย์ เพื่อป้องกันไม่ให้ข้อต้องทำงานมากกว่าปรกติ และเป็นการผ่อนแรงที่กระทำต่อข้อ และการผ่าตัดแก้ไข จะใช้ในกรณีที่มีภาวะแทรกซ้อนที่เกิดขึ้น หรือกรณีที่ข้อถูกทำลายไปมาก หรือการรักษาทางยาไม่ได้ผล
ในการรักษาทางยา จะใช้ยาระงับการอักเสบ ในบางโรคของกลุ่มโรคข้อและรูมาติซั่ม อาจต้องใช้ยาหลายขนาน และให้ติดต่อกันเป็นเวลานาน เช่น โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ มียารักษาถึง 4 กลุ่มด้วยกัน คือ 


1.
ยาแก้ปวด (analgesic) อาจใช้พวกยาพาราเซตามอล หรือยาแก้ปวดที่ผสมกับยาคลายกล้ามเนื้อ ในรายที่มีการเกร็งของกล้ามเนื้อร่วมด้วย หรือพาราเซตามอลที่ผสมโคเดอีน (codeine) ซึ่งอาจทำให้เกิดอาการท้องผูก บางรายมีอาการเวียนศีรษะได้ 

2.
ยาต้านการอักเสบ ที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (nonsteroidal antiinflammatory drugs) กลุ่มแรกที่ใช้คือ แอสไพริน แต่ต้องใช้จำนวนมาก 10-12 เม็ด/วัน ระยะหลังมียากลุ่มนี้ออกมามากมายหลายตัว ยากลุ่มนี้ อาจมีผลระคายเคืองกระเพาะอาหาร และบางรายอาจมีอาการหอบหืด เลือดออกไม่หยุดหลังการผ่าตัด จึงจำเป็นต้องหยุดยาก่อนผ่าตัด 

3.
ยาต้านรูมาติ ซั่มที่ปรับเปลี่ยน ตามการดำเนินของโรค (disease modifying antirheumatic drugs; DMARD) เป็นยากลุ่มที่ยับยั้ง หรือหยุดการอักเสบของโรค ลดการทำลายของข้อและกระดูก เป็นกลุ่มยาที่ออกฤทธิ์ค่อนข้างช้า อาจใช้เวลา 3-6 เดือนจึงจะเห็นผล และจำเป็นต้องใช้เป็นระยะเวลายาวนาน จึงจำเป็นต้องได้รับการรักษา ติดตามด้วยการตรวจเลือด และปัสสาวะเป็นระยะ เพื่อป้องกันผลข้างเคียงกลุ่มยาเหล่านี้ ได้แก่ กลุ่มยารักษามาลาเรีย สารเกลือทอง ซัลฟาซาลาซีน เมทโธเทรกเซท 

4.
ยาสเตียรอยด์ จะทำให้อาการต่างๆ ดีขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่ไม่ได้มีการยับยั้งของโรค ดังนั้น อาจเกิดผลข้างเคียง ถ้าใช้ในขนาดสูง เช่น กระดูกพรุน ต้อกระจก โรคติดเชื้อ ในรายที่เหมาะสม แพทย์อาจใช้ฉีดเข้าข้อ หรือใช้รับประทาน 2.5-5 มก. ต่อวันในระยะแรกที่ให้การรักษา หรือจำเป็นต้องให้ในรายที่เกิดเส้นเลือดอักเสบ กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ ปอดอักเสบ
ทั้งนี้ การให้ยาแก่คนไข้ แพทย์จำเป็นต้องชั่งน้ำหนักว่า ผลดีผลเสียของยาด้วย เพราะยาแต่ละตัวให้ผลต่างกัน
การปรับตัวของผู้ป่วยให้เข้ากับโรคข้ออักเสบ
แม้ว่าแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ จะเป็นผู้ให้การดูแลรักษาผู้ป่วยโรคข้ออักเสบก็ตาม แต่บุคคลสำคัญที่สุดในการรักษา คือ ตัวผู้ป่วยเอง ผู้ป่วยควรจะรับประทานยาอย่างสม่ำเสมอ ได้รับการออกกำลังกาย และการพักผ่อนอย่างเพียงพอ และรู้จักการใช้อุปกรณ์ทางการแพทย์ ในการป้องกันไม่ให้ข้อต้องทำงานมากเกินปรกติ ผู้ป่วยควรเข้าใจในโรคของตนเอง และควรรีบปรึกษาแพทย์เมื่อมีปัญหา นอกจากนี้ญาติพี่น้องก็มีส่วนช่วยอย่างยิ่ง ในการให้ความช่วยเหลือ และให้กำลังใจแก่ผู้ป่วย การปรึกษากับแพทย์ พยาบาล เพื่อนและญาติพี่น้อง จะช่วยให้ผู้ป่วยเข้าใจโรคข้ออักเสบได้ดียิ่งขึ้น และดำเนินชีวิตได้อย่างมีความสุข
เครื่องมือ ARTHROSCOPE กล้องส่องเพื่อตรวจ และรักษาโรคข้อ
ARTHROSCOPE คือ เครื่องมือแพทย์ชนิดหนึ่ง เป็นกล้องส่องขยาย ใช้ใส่เข้าไปในข้อ โดยการเจาะรู ผ่านผิวหนังเข้าไป เพื่อใช้ในการวินิจฉัย และสามารถผ่าตัด รักษาโรคบางโรคของข้อต่างๆ ในร่างกายได้ โดยไม่ต้องมีแผลใหญ่ ช่วยให้ผู้ป่วยหายเร็วกว่า วิธีผ่าตัดแบบทั่วๆ ไป
อย่างไรก็ตาม คนไข้ควรจะต้องเข้าใจด้วยว่า ถ้าการสึกหรอของผิวข้อ เกิดจากความชรา หรือเข่าเสื่อม หรือกระดูกผิวข้อแตกจากอุบัติเหตุ แม้ว่าตรวจพบได้ด้วยกล้อง แต่ก็ไม่สามารถผ่าตัดด้วยกล้องได้เสมอไป ต้องเปลี่ยนไปใช้วิธีอื่นรักษา แล้วแต่กรณีตามความเหมาะสม
แหล่งข้อมูล : วารสารโรงพยาบาลรามคำแหง - www.ram-hosp.co.th/books

ไม่มีความคิดเห็น: